kabuvi

Limit downside, Be focus


3 Comments

สงครามกับผู้ได้ประโยชน์

7_beer       Versus_signaeon_beer

เร็วๆนี้ ผมอ่านข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เศรษฐกิจของที่ญี่ปุ่น พบว่ามีการพูดถึงการแข่งขันกันระหว่างยักษ์ใหญ่ในวงการค้าปลีกญี่ปุ่นสองเจ้าคือ “Seven-Eleven” และ “Aeon” เนื้อหาข่าวพูดถึงการแข่งขันทางด้านราคาและคุณภาพสินค้า พูดสั้นๆคือ “ต้องถูกและดี” ทั้งสองบริษัทต่างเพิ่มสัดส่วนสินค้าแบรนด์ของตัวเอง (Private Brand หรือ PB) โดยมีการเจรจากับผู้ผลิตดังๆหลายราย ล่าสุดที่ออกมาสู่ตลาดคือ เบียร์ราคาถูก (ตอนแรกผมก็ไม่เชื่อว่าแบรนด์เบียร์ดังๆในที่สุดก็ยอมทำ OEM) อย่างที่ทุกท่านทราบอยู่แล้วว่าที่ประเทศญี่ปุ่นมีผู้ผลิตสินค้าต่างๆมากมายเริ่มตั้งแต่ของกิน และสินค้าที่ใช้ในครัวเรือน ในฐานะที่เป็นร้านค้าปลีกรายใหญ่มีสาขาทั่วประเทศ ย่อมที่จะมีอำนาจต่อรองอย่างมากกับผู้ผลิต สุดท้าย ผู้ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือ ผู้บริโภค นั่นเอง

สำหรับประเทศไทย ช่วงหลังๆผมสังเกตุเห็นการแข่งขันต่างๆมากมาย ยกตัวอย่างเช่น การขยายสาขากลุ่มค้าปลีกเพื่อแย่งชิงพื้นที่ สงครามน้ำดำ สงครามชาเขียว สายการบินราคาถูก ค่ายโทรศัพท์มือถือ สัญญาณอินเตอร์เน็ต อสังหาริมทรัพย์คอนโดมิเนียม

ท่ามกลางสงครามและการแข่งขัน นอกจากผู้บริโภคแล้ว มักจะมีบริษัทที่ได้ประโยชน์จากสงครามดังกล่าว ดังนั้น แทนที่เราจะลงทุนในบริษัทที่ต้องมาแข่งขันกันด้านการตลาดหรือแข่งกันลดราคาเพื่อแย่ง Market Share เราอาจพิจารณา “ลงทุนในบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการแข่งขันนั้น” ยิ่งการแข่งขันนั้นมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงและยาวนานมากเท่าไหร่ บริษัทที่ได้ประโยชน์จากสงครามที่ว่าก็ยิ่งน่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น

  • การแข่งขันขยายสาขาเพื่อชิงพื้นที่ของกลุ่มค้าปลีก บริษัทที่ขายอุปกรณ์ที่ใช้เก็บเงินหรือเช็คสต๊อกก็อาจได้ประโยชน์
  • สงครามน้ำดำหรือสงครามชาเขียว ผู้ผลิตฝาขวดหรือแม้แต่ผู้เก็บค่าโฆษณาและจัดอีเวนท์ต่างๆอาจได้ประโยชน์
  • การแข่งขันราคาและจำนวนสายการบินราคาถูก ทำให้สนามบินหรือแม้แต่บริการเติมน้ำมันเครื่องบินอาจได้ประโยชน์
  • การขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ ทำให้ผู้จำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างอาจได้ประโยชน์

เหล่านี้เป็นต้น แม้ว่ายังมีอีกหลายๆปัจจัยที่เราต้องพิจารณาก่อนเลือกลงทุน แต่อย่างน้อยจากข้อมูลดังกล่าว เราจะได้กลุ่มบริษัทเพื่อนำไปศึกษาต่อในรายละเอียดทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพต่อไป


3 Comments

นักเตะแข้งทอง

25560216-215552.jpg

หลายๆท่านที่เกิดในยุค 1970s เหมือนผมคงไม่พลาดที่จะได้ดูฟุตบอลโลกรอบชิงชนะเลิศระหว่างประเทศ อิตาลีกับบราซิลในปี 1994 รอบนี้ตัดสินแพ้ชนะกันด้วยการยิงลูกโทษซึ่งหนึ่งในบุคคลที่ถูกเลือกเป็นตัวแทนของทีมอิตาลีให้ออกมายิงลูกโทษคือ ซุปเปอร์สตาร์ในยุคนั้น โรแบโต้ บัจจิโอ้ นักเตะแข้งทองที่บุคคลทั่วโลกรู้จัก ซึ่ง ณ ตอนนั้นคงไม่มีใครจะนึกว่าเค้าจะเตะลูกโทษพลาด ด้วยความผิดพลาดนี้เองส่งผลให้ประเทศอิตาลีพลาดแชมป์ในครั้งนั้น

หลังจากวันนั้นไม่นานก็มีการกล่าวถึงเรื่องนี้กันอย่างมาก สื่อต่างๆประโคมข่าวเรื่องความผิดพลาดของบัจจิโอ้ จนทำให้ความนิยมในตัวนักเตะคนนี้ลดลงไปฉับพลันเพียงแค่ความผิดพลาดจากการเตะลูกจุดโทษเพียงแค่ครั้งเดียว อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป บัจจิโอ้ก็เรียกฟอร์มเด่นกลับมาได้ดังเดิม และด้วยความที่เคยเป็นซุปเปอร์สตาร์ความนิยมในตัวเค้าก็กลับมาอีกครั้ง แม้ว่าความผิดพลาดครั้งนี้จะทำให้เกิดรอยด่างพล้อยขึ้นในตัวนักเตะแข้งทองคนนี้ แต่ก็ทำให้เราเห็นว่าแม้จะเก่งแค่ไหนก็สามารถที่จะผิดพลาดได้เช่นกัน

ผมขอเปรียบเทียบนักเตะแข้งทองคนนี้กับหุ้นที่ได้รับความนิยมในตลาด นักลงทุนก็เปรียบเสมือนกับกองเชียร์ที่ยิ่งมีความคาดหวังในตัวนักเตะคนนั้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งกล้าที่จะเดิมพันกับความคาดหวังนั้นมากขึ้นเท่านั้น ราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นจนส่งผลให้ค่า PE พุ่งสูงขึ้นไปมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ผลสุดท้ายคือ เราจะอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการขาดทุนอย่างมากแม้ผลประกอบการณ์ของบริษัทออกมาในทิศทางที่แย่แม้เพียงน้อยนิดก็ตาม ในทางกลับกันแม้ว่าบริษัทจะทำกำไรได้ดี ราคาหุ้นก็อาจจะไม่ได้ตอบสนองกับกำไรนั้นมากนัก เนื่องจากกองเชียร์ในสนามต่างก็คิดเหมือนๆกันว่า “ซุปเปอร์สตาร์ระดับนี้แล้ว ยังไงก็ต้องยิงเข้า” ราคาหุ้นอาจจะปรับตัวขึ้นบ้าง ถ้าลูกที่ยิงออกไปไซด์ก้อยและตุงตาข่ายซ้ายบนแบบนายประตูขาตายและหมดสิทธิ์รับ

สุดท้ายนี้ผมไม่ได้บอกว่าการลงทุนกับนักเตะแข้งทองเป็นเรื่องที่ไม่ดี ถ้านักเตะแข้งทองที่แต่ละคนกล่าวขวัญถึงเป็นทองแท้ไม่ใช่ “ทองเก๊” เค้าคนนั้นก็สามารถที่จะกลับมาเป็นที่นิยมได้ไม่ยากนัก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “เราศึกษาเค้ามาดีพอรึยัง” แต่ถ้าถามผม ผมชอบมองหานักเตะดาวรุ่งอายุน้อย ที่มีโอกาสจะเป็นนักเตะแข้งทองได้ในอนาคตมากกว่า คุณล่ะ ชอบแบบไหน?