kabuvi

Limit downside, Be focus

The 5 Keys to Value Investing (with kabu`s ideas)

15 Comments

รูปนี้เขียนขึ้นมาจากข้อมูลในหนังสือ กุญแจ 5 ดอกของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า แปลของคุณพรชัย รัตนนนทชัยสุข (ต้นฉบับมาจาก The 5 Keys to Value Investing เขียนโดย J. Dennis Jean-Jacques) นับว่าเป็นแนวคิดที่ผมเชื่อว่าเป็นต้นแบบหนึ่งที่ดีที่สุดของการลงทุนแนวพื้นฐานหรือที่หลายๆท่านเรียกว่า Value Investment (VI)

แนวคิดที่ว่าประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 5 อย่าง ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางที่เรายึดถือปฏิบัติได้ก่อนพิจารณาลงทุนในบริษัทหนึ่งๆ ผมขอสรุปอย่างสั้นๆ ตามความเข้าใจของผมนะครับ

1. ธุรกิจ

การพิจารณาตัวธุรกิจที่เราจะลงทุน ควรจะเริ่มจากการที่เราเข้าใจในธุรกิจนั้นๆ อย่างถี่ถ้วน ว่าธุรกิจนั้นๆ มีการเข้าออกของเงินอย่างไร ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อรายจ่ายและรายได้ของตัวบริษัทคืออะไร ความเสี่ยงของตัวธุรกิจคืออะไร รวมไปถึงธรรมาภิบาลของผู้บริหารในบริษัทนั้นๆ เป็นอย่างไร ข้อมูลส่วนนี้เราอาจจะหาเบื้องต้นได้จาก แบบ 56-1 ซึ่ง download ได้จาก set.or.th หรือ sec.or.th อย่างน้อยๆ สิ่งที่เราควรจะต้องผ่านตาคือ บทของ Business, Product, Risk, Financial  ใน แบบ 56-1 นอกจากนั้นข้อมูลอื่นๆ อาจจะหาได้จากบทสัมภาษผู้บริหาร, Oppday, AGM, หรือเว็บไซท์ของบริษัท

2. มูลค่าที่เหมาะสม

มูลค่าที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่บอกด้วยตัวเลขที่แน่นอนค่อนข้างยาก มูลค่าที่เหมาะสมของตัวเราอาจจะไม่เท่ากับของคนอื่น เนื่องจากแต่ละคนมีสมมุติฐานในการคำนวณมูลค่าแตกต่างกัน ปกติแล้ววิธีการคำนวณมูลค่ามีหลายวิธี ที่นิยมใช้กันมากคือใช้ค่า P/E ไปจนถึงวิธีที่ต้องใช้สมมติฐานค่อนข้างเยอะคือ DCF ผมมองว่าการใช้ P/E ในการบอกมูลค่าที่เหมาะสม จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เนื่องจากค่า P/E ที่เราให้กับบริษัทหนึ่งๆ ค่อนข้าง subjective เรามักจะต้องสั่งสมประสบการณ์ในตลาดพอสมควรจึงจะบอกได้ว่า P/E ที่เหมาะสมของบริษัทนั้นนี้ น่าจะมีค่าเท่าไหร่ ซึ่งการอยู่ในตลาดนานๆ และการมองค่า P/E ของบริษัทในอดีตประกอบ จะทำให้เราเข้าใจและให้ค่า P/E กับบริษัทในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมได้ดีขึ้น สำหรับ DCF นั้นต้องใช้องค์ประกอบหลายตัวในการคำนวณ โอกาสในการผิดพลาดก็ยิ่งจะมากขี้นไปอีก สำหรับหนังสือเล่มนี้ใช้วิธีการหามูลค่าที่เหมาะสมหลายๆวิธีแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ยอีกที ซึ่งผมก็คิดว่าทำให้เราได้ค่าที่ออกมาไม่โอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป

3. ราคาหุ้น

สำหรับปัจจัยนี้ ผมคิดว่าเป็นแค่ตัวที่ใช้อ้างอิงให้เรารู้ว่า ณ เวลานี้ เราควรลงทุนกับบริษัทนี้หรือไม่ ซึ่งเราอาจจะมีกฏการลงทุนของเราเอง เช่น ในกรณีที่ค่า P/E ของทั้งตลาด < 10 เราอาจต้องการลงทุนในบริษัทที่ราคาหุ้นในปัจจุบันมีส่วนลดจาก มูลค่าที่เหมาะสม ที่เราคำนวณได้ในข้อ 2 มากกว่า  50% หรือในกรณีที่ P/E ของทั้งตลาด >10 เราอาจจะหาบริษัทที่มีส่วนลดดังกล่าวยาก เราอาจจะกำหนดให้ส่วนลดที่ว่าเป็น มากกว่า 30% ในหนังสือการลงทุนเล่มนี้ กล่าวไว้ว่า เราควรรู้ที่มาที่ไปของราคาด้วย หมายถึง สาเหตุอะไรที่ทำให้ราคาหุ้นขณะนั้นอยู่ที่เท่านั้น เราสามารถดูค่า P/E ที่ตลาดมอบให้กับหุ้นตัวนั้นในเวลานั้นๆ พร้อมกับเวลาในอดีตมาประกอบในการคิดพิจารณา บางครั้งตลาดอาจจะให้ค่า P/E ของบริษัทต่ำประมาณ 5-6 ซึ่งเราอาจจะหาข้อมูลเพิ่มเติมและพบว่า บริษัทให้ปันผลในอัตราต่ำมาโดยตลอด หรือกำไรของบริษัททำนายได้ยาก ปัจจัยดังกล่าวเหล่านี้ทำให้ตลาดมองข้ามบริษัทนี้ไป ส่วนตัวผมกลับมาว่าจริงๆแล้วบริษัทที่ว่าอาจสร้างโอกาสทองให้เราได้ ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรือตัวเร่งขึ้น ไม่ภายในก็ภายนอก จนทำให้พื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนไปในทางที่มีแนวโน้มให้ตลาด ปรับ P/E ของบริษัทให้สูงขึ้น

4. ตัวเร่ง

การลงทุนแบบ VI ไม่ใช่การลงทุนแบบถือยาว แต่เป็นการลงทุนในบริษัทที่มีราคาซื้อขายในตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงที่เราคำนวณได้ และเชื่อว่าราคาหุ้นดังกล่าวจะปรับตัวขึ้นไปยังมูลค่านั้นๆ ในระยะเวลาที่เหมาะสม จริงๆแล้วการถือหุ้นเป็นระยะเวลานานเกินไป กว่าราคาจะปรับขึ้นไปยังเป้าหมายที่เราคาดไว้ อาจทำให้ผลตอบแทนต่อปีที่เราได้ลดลง เนื่องจากเรามีต้นทุนอีกตัวที่คอยลดหลั่นผลตอบแทนที่เราจะทำได้ เรียกว่าต้นทุนเวลา ซึ่งตัวเร่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เราลดต้นทุนดังกล่าว เราอาจจะพบตัวเร่งได้จากข้อมูลที่ประกาศใน set.or.th ก่อนตลาดเปิดช่วงเช้า ช่วงบ่าย หรือแม้แต่หลังตลาดปิด หรือ จากบทสัมภาษผู้บริหารและการถามตอบใน Oppday หรือ AGM รวมทั้ง Company Visit ทั้งนี้ทั้งนั้น เนื่องจากเราอาจจะได้ข่าวสารมาจากหลายแหล่งทุกทั่วสารทิศ เราจึงควรประเมินตัวเร่งดังกล่าวอีกครั้งว่ามีโอกาสเกิดมากน้อยเพียงไร การพิจารณาเป็นกรณีๆไปถึงโอกาสเกิดของตัวเร่งแต่ละตัว อันจะส่งผลให้ราคาในตลาดวิ่งไปหามูลค่าที่เหมาะสมที่เราคาดไว้ จะช่วยให้เราประเมินคร่าวๆ ได้ถึงผลตอบแทนที่คาดหวังได้ใน ช่วงเวลาหนึ่งๆ

5. ส่วนเผื่อความปลอดภัย

ปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุดในการเลือกลงทุนในบริษัทหนึ่งๆ ส่วนเผื่อความปลอดภัยในความหมายของผมไม่ใช่ Upside หรือความแตกต่างระหว่างราคาปัจจุบันกับราคาเป้าหมาย แต่เป็นความแตกต่างระหว่างราคาในปัจจุบัน กับ ราคาที่อาจจะเป็นไปได้ในกรณีที่เกิดอะไรแบบผิดคาด พูดง่ายๆ คือการที่เรา มอง Downside risk ทางด้านราคาเป็นหลักไว้ก่อนนั่นเอง การบอกถึงค่าที่แน่นอนของส่วนเผื่อความปลอดภัยนั้น ยากไม่แพ้การประเมิน Upside ส่วนตัวผมคิดว่ายากกว่าการหา Upside ซะด้วยซ้ำ เนื่องจากผมมองว่ามีหลายๆปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาในตลาด สำหรับตัวผมเอง ผมมักจะดู อัตราเงินปันผลที่คาดว่าจะได้รับ จากผลประกอบการที่คาดว่าจะเป็นในอนาคต ซึ่งส่วนใหญ่ ตลาดชอบอัตราเงินปันผล > 10% และไม่ค่อยให้ราคาต่ำกว่านั้น ยกเว้นในกรณีที่เกิดวิกฤติ นอกจากดูอัตราเงินปันผลแล้ว ผมมักจะดูถึงกระแสการลงทุนในขณะนั้น ว่าผมอยู่ในกลุ่มในของการลงทุน เช่น กลุ่มแรกที่พบบริษัทนี้ กลุ่มที่สองที่ซื้อตามกลุ่มแรก หรือกลุ่มที่สามที่พบหลังสุดที่ลงทุนเมื่อทุกคนต่างก็พูดถึงหุ้นตัวนั้นๆ แล้ว การดู technical และ กราฟประกอบจะทำให้เราเห็นภาพได้ชัดขึ้น ส่วนตัวไม่ชอบที่จะลงทุนในกลุ่มที่สาม เนื่องจากส่วนใหญ่กลุ่มที่สามนี้มักจะได้ซื้อหุ้นในราคาที่มีส่วนลดน้อยกว่ากลุ่มอื่น และมีความเสี่ยงของการตกของราคาหุ้น ในกรณีที่เกิดเหตุการที่ไม่คาดฝันในทางลบแม้เพียงนิดเดียวก็ตาม การที่เราประมาณการได้ว่าเรามีโอกาสที่จะขาดทุนได้เท่าไหร่ เมื่อเราลงทุนในบริษัทนั้นๆ เวลานั้นๆ ทำให้เรามองเห็นส่วนเผื่อความปลอดภัยที่เรามี และช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาเงินต้นของเราได้

ท้ายที่สุดแล้ว การลงทุนไม่มีรูปแบบที่แน่นอน แนวทางการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยยีดหลักแนวทางพื้นฐานที่เหมาะสม จะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่เหมาะสมเช่นเดียวกันในระยะยาว ขอให้ทุกๆท่านโชคดีในการลงทุนครับ

15 thoughts on “The 5 Keys to Value Investing (with kabu`s ideas)

  1. เป็นบทความที่ดีมากครับ สรุปได้ใจความและกระชับมาก

    เวลาลงทุน ผมเองก็มองหา downside ก่อน upside เสมอครับ และผลลัพธ์ของการมอง downside ก่อนก็ดีมากๆเพราะช่วยให้เราประเมินได้ว่า ในกรณีเลวร้ายสุด เราจะเสียหายเท่าไหร่จากการลงทุน

    ดังนั้นผมจะตั้งกฎว่า หุ้นที่ผมลงทุน downside ต้องไม่เกิน 10% และ upside ต้องมากกว่า 50% ขึ้นไปเท่านั้น

    ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ

    • ผมก็ติดตามโพสของคุณ BLSH ใน thaivi อยู่บ่อยๆ
      ขอบคุณสำหรับคอมเมนท์ดีดีเช่นกันครับ

  2. ขอบคุณครับ ..
    โดยเฉพาะตอนนี้โดนมากๆ…
    “การลงทุนแบบ VI ไม่ใช่การลงทุนแบบถือยาว แต่เป็นการลงทุนในบริษัทที่มีราคาซื้อขายในตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงที่เราคำนวณได้ “<<<< ผมก็อธิบายเพื่อนประเด็นนี้บ่อยมาก..ไม่รู้ว่าทำไมคนชอบคิดว่า VIคือถือยาว^_^"..

    ปล.จริงๆแล้วเวลาประเมินยาวๆสักหน่อยแล้ว..มักจะเห็นทิศทางอนาคตชัดกว่ามองสั้นๆเท่านั้นเอง

    • ผมขออนุญาติเอาลิงค์ไปที่ blog คุณเอกมาแปะในบล๊อกผมด้วยนะครับ ^^

      • เป็นเกียรติอย่างยิ่งครับคุณKabu

        เด๋วผมต้องไปศึกษาเพิ่มบ้าง..อยากทำlinkเป็นบ้างครับ
        ปล.ผมเพิ่ง แปะรูปเป็นเองครับ^_^”

    • เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ ถ้า Unlocked ทัศนคติเรื่องระยะเวลาในการถือได้
      ผมถือว่าเป็นก้าวสำคัญครั้งใหญ่ของนักลงทุนเลยครับ

      ส่วนปรมาจารย์ที่ยึดแนวทางเรื่องถือยาว เป็นเพราะข้อจำกัดเรื่องขนาดของพอร์ตทำให้ตัวเลือกและทางเลือกมีไม่มากนัก

  3. Very good article krab P’Kabu.

  4. หาตัวเร่ง ปลดล๊อคมันให้ได้ครับ ผมจำขึ้นใจเลย

  5. How to find downside risk?i think it in easy way.When i buy CPN at 24.xx.The worst case might be at 18(The price on the day that CTW got burned).Stanly might be around 120-130 in worst case as bottom price around q4’11.But it should not be at 120 as too many good stories in this yr.Just share my evaluation to this blog kab^^

    Hope it would be useful to u and ur fan…i am also ur fan:p

    • ถ้าดูตามหนังสือ หลักๆแล้วคนเขียนมักจะเน้นถึงว่าถ้าราคาต่ำกว่านี้ บริษัทควรจะถูกซื้อและเอาออกนอกตลาด
      แต่สำหรับในเมืองไทย คิดแบบนั้นอาจจะค่อนข้างยาก ส่วนตัวผมก็ดูจากผลประกอบการกรณี worst case , การให้ PE ของนายตลาดในช่วงปกติ, และสัญญาณทาง technical ครับ แต่ downside risk ก็เปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูลใหม่ๆที่ผ่านเข้ามา โดยเฉพาะข้อมูลที่ช่วยสนับสนุนพื้นฐานของบริษัท อย่างนี้ผมอาจจะปรับราคาทีีผมยินดีจ่ายให้สูงขึ้นได้ครับ

      ช่วงเวลาที่ผมมักจะชอบเข้าซื้อคือช่วงที่ผมเห็นว่าบริษัทแย่ชั่วคราว แต่จะดีขึ้นภายในไม่เกินหนึ่งไป แล้วมีโอกาสโตต่อในอย่างน้อยสามปีให้หลัง โดยเฉพาะในเวลาที่ spotlight ถูกยกออกไป

      CPN ช่วงที่โดยเผาใหม่ๆ ผมมอง downside ไว้ที่ 20-22 บาทครับ แต่ตอนนี้ผมก็ปรับ ราคา downside ขึ้นมาตามข้อมูลต่างๆที่เข้ามา
      ส่วน stanly ยังรู้ไม่เยอะ ไม่กล้าประมาณครับ รอให้เซียนเอกมาสอนครั้งหน้าตอนเจอกันแล้วกันครับ ^^

  6. ยอดเยี่ยมเลยครับพี่

  7. สุดยอดครับคุณKabuจากบทความนี้ ทำให้ผมเพิ่งไปสอยหนังสือ5keysมาอ่าน(เหลือเล่มสุดท้ายของร้านด้วย)
    ขอบคุณครับ (;

  8. Value Investing สำหรับนักลงทุน

Leave a comment