kabuvi

Limit downside, Be focus


15 Comments

Out-of-sight Stock : หุ้นนอกสายตา

สัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์กับเพื่อนเก่าที่เคยเรียนอยู่มหาลัยเดียวกัน ปัจจุบันหลายๆ คนก็มีเส้นทางชีวิตของตัวเอง บ้างก็อยู่ในสายงานวิศวกรรมโยธาอย่างที่ได้เรียนมา บ้างออกทำงานในสายการเงิน บ้างก็ไปเป็นผู้จัดการกองทุน และบ้างก็ออกมาลงทุนเต็มเวลา แปลกที่เมื่อก่อนสมัยที่เรียนอยู่มหาลัยหรือจบใหม่ๆ เรื่องที่มักจะถูกนำมาพูดคุยกันในโต๊ะอาหารมักจะเป็นเรื่อง แฟนคนนั้น คนนี้ อกหัก ดารา ภาพยนต์ หรือแม้แต่เรื่องเกมส์ออนไลน์ แต่วันนั้นที่เจอกันเรื่องที่นำมาคุยกัน 90% จะเกี่ยวกับเรื่องหุ้นและการลงทุน

กลับมาเรื่องที่ผมอยากจะพูดถึงวันนี้ เรื่อง หุ้นนอกสายตา ซึ่งผมได้ไอเดียนี้มาจากเพื่อนคนนึงซึ่งตอนนี้ออกมาลงทุนเต็มตัวแล้ว ผมคิดว่าน่าสนใจดีเลยนำมาเล่าสู่กันฟัง

ผมเป็นคนนึงที่ชอบหาหุ้นนอกสายตาเพื่อเข้าลงทุน โดยหลักๆแล้วหุ้นนอกสายตาอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. นอกสายตานักลงทุนรายย่อย

หุ้นพวกนี้มักจะเป็นหุ้นที่ไม่มีโวลุ่ม และมี Market Cap ค่อนข้างเล็ก หรือ น้อยกว่า  1,000 ล้าน ถ้าลองสังเกตดูจะพบว่ามักมีการซื้อขายต่อวันน้อยกว่า 0.5% ของ Market Cap ทั้งหมด หรือบางครั้งอาจจะน้อยกว่านั้นมากๆ พูดได้ว่าสภาพคล่องน้อย หุ้นประเภทนี้มักจะยังไม่อยู่ในสายตาของนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนที่มีพอร์ตขนาด 10 ล้านบาทขึ้นไป อาจใช้เวลานานในการสะสมหุ้นประเภทนี้ ข้อดีของหุ้นประเภทนี้ คือ มักจะมี Margin of Safety หรือพูดอีกแง่นึงคือ Downside risk ไม่สูงนัก ส่วนข้อเสียของหุ้นประเภทนี้คือ มักมองเห็น upside ได้ไม่ชัดเจน ราคาอาจจะ +-10% มาเป็นช่วงเวลานาน หรือ กำไรอาจโตเพียงตามเงินเฟ้อทุกๆปี แม้ว่าหุ้นบางตัวอาจจะให้ปันผลไม่แย่นัก เพราะฉะนั้นจุดสำคัญที่สุดในการเลือกลงทุนในหุ้นประเภทนี้คือ ตัวเร่ง ที่จะสามารถทำให้หุ้นนอกสายตานักลงทุนรายย่อย กลายเป็น หุ้นเข้าตา  ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากวงจรเศรษฐกิจหรือ การเปลี่ยนแปลงภายในบริษัทที่เราคาดการว่าจะนำไปสู่งการเปลี่ยนแปลงไปทางที่ดีอย่างถาวรของบริษัท เช่น เปลี่ยนผู้บริหาร ปรับโครงสร้างหนี้ ขายบริษัทย่อย (ตัดเนื้อร้าย) เปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชี เปลี่ยนนโยบายทางการเงินบางอย่าง หรืออื่นๆ

2. นอกสายตานักลงทุนสถาบัน

หุ้นพวกนี้จะแตกต่างจากหุ้นประเภทแรก คือ เมื่อมองในมุมของนักลงทุนรายย่อยนั้นโวลุ่มเพียงพอที่จะซื้อขายได้ภายในครั้งเดียวโดยไม่กระทบกับการเปลี่ยนแปลงของราคาตลาดในขณะนั้นมากนัก โดย Market Cap จะไม่เกิน 10,000 ล้านบาทและมีการซื้อขายต่อวันโดยเฉลี่ยไม่เกิน 50 ล้านบาท หุ้นประเภทนี้อาจจะยังอยู่นอกสายตานักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากมี เงื่อนไขไม่ตรงกับเงื่อนไขที่สามารถลงทุนได้ หุ้นประเภทนี้เป็นหุ้นที่น่าสนใจลงทุนอย่างมากสำหรับนักลงทุนที่มีพอร์ตเกิน 10 ล้านบาท เนื่องจากปัญหาการซื้อขายของหุ้นจากสภาพคล่องน้อยกว่าประเภทแรก และยังมีโอกาสทำกำไรได้มากเมื่อหุ้นดังกล่าวทำกำไรได้มากและทำให้ Market cap เข้าเงื่อนไขของนักลงทุนสถาบัน หุ้นประเภทนี้สังเกตได้จากการดูรายชื่อผู้ถือหุ้นในปัจจุบัน และบางบริษัทอาจจะมีตัวเร่งที่เกี่ยวข้องกับ Free float ในตลาด เช่น บริษัทมีการแตกพาร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ประกาศลดสัดส่วนการถือหุ้น และอื่นๆ

หุ้นนอกสายตาทั้งสองประเภท มีโอกาสทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เมื่อมันเปลี่ยนสภาพเป็น หุ้นเข้าตา การลงทุนในหุ้นนอกสายตานั้นอาจจะใช้เวลาและความพยายามค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหุ้นนอกสายตาประเภทแรก เนื่องจากมักจะไม่มีบทวิเคราะห์ ไม่มี Oppday และไม่ค่อยมีบทสัมภาษน์จากผู้บริหาร บางครั้งก็ต้องใช้ความอดทนรอคอยนักลงทุนรายอื่นหันมาสนใจในหุ้นดังกล่าว ซึ่งจะกลายเป็นต้นทุนทางด้านเวลาของเรา ส่วนหุ้นนอกสายตานักลงทุนสถาบันนั้น แม้ว่าหาข้อมูลได้ไม่ยากนัก แต่ก็มีความเสี่ยงทางด้าน Downside risk ที่มากขึ้นกว่าประเภทแแรก เนื่องจากว่าหุ้นอาจจะเข้าตานักลงทุนรายย่อยไปนานแล้ว และนำไปสู่ง Margin of Safety ที่ลดลง ทำให้เราต้องพิจารณาอย่างถ้วนถี่ก่อนการลงทุน สุดท้ายการหาความรู้และฝึกฝนอย่างเป็นประจำโดยเฉพาะการพิจารณาถึงกุญแจ 5 ดอกของการลงทุนที่ได้พูดไปในบทความที่ผ่านมา จะช่วยให้เราป้องกันการสูญเสียเงินต้นและสร้างความมั่งคั่งได้อย่างมั่นคงในระยะยาว